วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

ประวัติประเพณีสงกรานต์


นางสงกรานต์ประจำปี 2554


นั่งช้างถือปืน พยากรณ์ปีนี้ดุ

กิริณีเทวี นางสงกรานต์ปี 2554

กิริณีเทวี นางสงกรานต์ ปี 2554


ปฏิทินหลวงวันสงกรานต์ ปี 2554 ปีใหม่ไทยปีนี้ตรงกับปีเถาะ นางสงกรานต์ มีนามว่า "กิริณีเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่ว-งา พระหัตถ์ขวาทรงขอ พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จนั่งมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ ซึ่งจากคำทำนายค่อนไปทางร้ายมากกว่าดี

โดยวันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5 เวลา 13 นาฬิกา 25 นาที 25 วินาที และวันที่ 16 เมษายน เวลา 17 นาฬิกา 31 นาที 12 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1373 วันอาทิตย์เป็นโลกาวินาศ น้ำฝนปีนี้ วันพุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า นาคให้น้ำ 5 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ผลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปถวี (ดิน) น้ำงามพอดี

ทั้งนี้ คำทำนายตามตำราตรุษสงกรานต์ของ นายสมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553 ระบุว่า นางสงกรานต์กิริณีเทวี นั่งมาบนหลังช้างซึ่งถือเป็นสัตว์ใหญ่ เป็นมงคลช่วยขับไล่สิ่งร้าย ๆ ให้ออกไปได้ และยังทัดดอกมณฑาเป็นดอกไม้ทิพย์อยู่บนสวรรค์ คนไทยโบราณเชื่อว่าจะช่วยพ้นวิกฤติจากหนักให้เป็นเบา ส่วนภักษาหารที่เป็นถั่วงา แสดงว่าพืชผลข้าวปลาอาหารยังมีความสมบูรณ์อยู่ ส่วนคำทำนายที่ว่าทหารจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู ก็น่าจะแสดงถึงความสงบสุขของบ้านเมืองในปีนี้ด้วย

ขณะที่ วันมหาสงกรานต์ 2554 ตรงกับวันพฤหัสบดี วันเนาตรงกับวันศุกร์ และวันเถลิงศกตรงกับวันเสาร์ รวมคำทำนายว่า จะเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ ความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตาย แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แต่แม่หม้ายจะมีลาภ และบรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู

ส่วนคำทำนายของล้านนา ระบุว่า ปีนี้ฝนจะตกเสมอต้นเสมอปลายตามฤดูกาล ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จักมีอันตราย ช้างม้าวัวควายจักตายมากนัก ไพร่ราษฎรจักอยู่ดีมีสุข ขุนใหญ่ ปุโรหิต พระสงฆ์จักเป็นทุกข์ คนเกิดวันศุกร์มีเคราะห์ คนเกิดวันอาทิตย์มีโชค



ประวัติวันสงกรานต์



สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"

ตามหลักแล้วเทศกาลสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ (ย้ายจากราศีมีนไปราศีเมษ) เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา"และวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) อย่างไรก็ตาม ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ



สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี

พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

กิจกรรมในวันสงกรานต์


การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
การสรงน้ำพระการรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา


การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย

การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้

การดำหัว ก็คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางภาคเหนือ การดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีผ้าขนหนู มะพร้าว กล้วย และ ส้มป่อยการปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่


การนำทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น