วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์


วันนี้มีโอกาสได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเทพ สนุกมาก

ได้ความรุ้ที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน อย่างที่ว่าแหละ

ขอขอบคุณท่าอาจารยือุทิศ ที่มอบโอกาสดีดีให้กับฉัน


ที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เขามีสโลแกนว่า Experience the best of Rattanakosin in a day แปลเป็นไทยได้ว่า "คุณค่าแห่งยุคสมัย สัมผัสได้ในหนึ่งวัน"

แวะมาเที่ยวที่นี่กันได้ไม่ยาก อยู่ริมถนนราชดำเนินกลางติดกันกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ หรือที่หลายคนจะคุ้นเคยเรียกพิกัดนี้กันว่าเฉลิมไทยเก่า ตรงนั้นอยู่ในตำแหน่งที่เท่ากับเป็นปากประตูสู่เกาะรัตนโกสินทร์ก็ว่าได้

เจ้าของที่นี่ก็คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่กำลังมีโครงการปรับปรุงอาคารสองฝั่งถนนราชดำเนินในย่านนี้ แล้วก็เริ่มด้วยการทำศูนย์เรียนรู้ดี ๆ อย่าง นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ที่เริ่มเปิดให้บริการกันไปเมื่อเดือนมีนาคม 53 นี่เอง



เข้ามาชมกันที่นี่มีค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก (สูงไม่เกิน 110 ซ.ม.) 30 บาท (ราคาเท่ากันทั้งคนไทยคนต่างชาติ)

แต่เปิดให้เข้าฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียน นักศึกษา (ป.ตรี) ที่แต่งเครื่องแบบหรือพกบัตรประจำตัวมาก็ได้ รวมไปถึงผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้พิการ และพระภิกษุหรือนักบวช

อ้อ ราคาเข้าชมที่ว่าเป็นราคาช่วงโปรโมชั่นที่ลดจากราคาเต็ม 200/50 บาท เพราะนิทรรศการยังจัดแสดงไม่ครบดีจาก 9 ห้องตอนนี้พร้อมให้เข้าไปชมกันได้ 7 ห้องก่อน

บางคนอาจจะบ่นว่าลดค่าเข้าชมแล้วก็ยังแพงอยู่ดีนั่นล่ะ ก็ต้องเล่าว่าที่นี่ลงทุนกันเป็นหลักร้อยล้านบาท เรียกว่างานนี้เก็บค่าเข้าชมก็เพียงแค่ให้มีรายได้เข้ามาชดเชยค่าใช้จ่ายบ้าง ไม่ได้คิดไปถึงจะให้คืนทุนที่ลงไป


ซื้อบัตรแล้วใช่ว่าจะลุยกันได้เลย ที่นี่จะจัดให้เข้าชมกันเป็นรอบ รอบละไม่เกิน 23 คน แล้วก็มีรอบออกกันทุก 20 นาที

เริ่มต้นด้วยการเดินผ่านโถงแสดงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์


ใครสนใจแต่อ่านไม่ทัน ไม่เป็นไรเดี๋ยวค่อยย้อนกลับมาอ่านกันใหม่ทีหลังได้


นิทรรศการที่นี่จะแบ่งเป็นห้อง ๆ อย่างที่เล่ากันไปว่าตอนนี้เปิดให้ชมกันแล้ว 7 ห้อง

ห้องแรกคือ รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์ ที่จัดเหมือนเป็นห้องฉายหนังเล็ก ๆ


ระหว่างรอรอบก่อนหน้า เจ้าหน้าที่จะชวนให้มารอกันในห้อง ดื่มด่ำย่านชุมชน


ห้องนี้จะมืดสักนิด เพราะเขาจัดให้เป็นจอฉายบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนเก่าแก่ให้ได้ชมกัน

จะได้มารู้กันว่าที่เรียกว่า บ้านดินสอ นั้นไม่ใช่ย่านขายเครื่องเขียนแบบ B2S สมัยนี้ แต่เป็นย่านที่ทำ "ดินสอพอง" ขายกัน หรืออย่างบ้านดอกไม้ ใครที่นึกไปถึงตลาดดอกไม้สวย ๆ แบบเดียวกับที่ปากคลองตลาด ก็ต้องบอกว่าย่านนี้เขาขาย "ดอกไม้ไฟ" กันต่างหาก


ได้เวลาเจ้าหน้าที่ก็จะมาพามาที่ห้องรัตนโกสินทร์เรืองโรจน์ มาชมสื่อผสม 4 มิติ ส่วนจะ 4 มิติยังไงต้องอุบไว้ก่อน งานนี้้ต้องให้ไปลองสัมผัสกันดูเอง

ส่วนเรื่องราวก็จะเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุคธนบุรีมาสู่ยุครัตนโกสินทร์หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์

"ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา

ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี"

พระราชนิพนธ์เรื่อง นิราศท่าดินแดง ของรัชกาลที่ 1 คราวที่นำทัพออกไปรบกับพม่าที่กาญจนบุรี


รัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์เมื่อ 6 เม.ย. 2325 ถัดจากนั้นอีกแค่ 2 อาทิตย์คือ วันที่ 21 เม.ย. 2325 ก็มีพิธีตั้งเสาหลักเมืองบนอีกฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับกรุงธนบุรีเดิม

แสดงให้เห็นว่าน่าจะทรงมีแนวคิดจะย้ายเมืองหลวงเพื่อประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการป้องกันพระนครหากมีศึกมาประชิดไว้อยู่ก่อนแล้ว


ถัดมาเป็นห้อง เกียรติยศแผ่นดินสยาม

จะมีที่ไหนจะอวดถึงเกียรติยศของแผ่นดินไปได้เท่ากับ พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว ที่ห้องนี้ก็เลยจำลองบริเวณพระบรมมหาราชวังทั้งหมดมาให้ชมกัน แล้วยังฉายวิดีทัศน์ประกอบให้ความรู้ว่า อาณาเขตของพระบรมมหาราชวังจะประกอบไปด้วยชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน


ที่นี่เราจะมองเห็นอาณาบริเวณทั้งหมดของพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว


เหมือนจริงมาก


อาคารยอดปราสาทอย่างที่เห็น เป็นประเพณีแต่โบราณมาแล้วว่าจะสร้างได้เฉพาะในพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์เท่านั้น


ซุ้มประตูหน้าต่างสวยงามที่ถอดแบบมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท


ความที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบอ่านป้ายข้อมูล ที่นี่เขาก็เลยมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่แต่ละห้องจัดแสดง คอยอธิบาย คอยชี้ชวนให้ชมโน้นนี่ รวมทั้งตอบคำถามข้อสงสัย อย่างใครเคยได้ยินกว่าเขามีพิธียกช่อฟ้า ก็ลองถามดูได้เลยว่า ช่อฟ้า คือส่วนไหนกัน

ถ้าใครพาเพื่อนต่างชาติมา นอกจากป้ายข้อมูลที่มีเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วย เขายังจัดเจ้าหน้าที่ที่คล่องภาษามาเดินตามบรรยายให้ หรือจะใช้บริการเครื่องแปลภาษาที่มีให้ยืมใช้กันได้ฟรีด้วย


มาต่อกันที่ส่วนของวัดพระแก้ว


เขามีเล่าถึงประวัติพระแก้วมรกต


แล้วยังโชว์องค์พระแก้วมรกตจำลองในเครื่องทรงแต่ละฤดู ที่จะหมุนเวียนขึ้นมาให้ชมครบทั้ง 3 ฤดู


ปกติไปชมพระบรมมหาราชวังของจริง จะเข้าได้เฉพาะส่วนของชั้นนอกกับชั้นกลาง แต่ที่นี่เขาเปิดโอกาสให้ได้เข้าไปยลบรรยากาศในเขตชั้นในกันด้วย

ด้วยการจำลองประตูสนามราชกิจมาให้เราได้ลองลอดผ่านเข้าไป

อ้อ ระวังธรณีประตูกันด้วย ชาววังเขาถือว่าตามธรณีประตูวังมีเทวดาสถิตย์อยู่ เพราะงั้นระวังอย่าเหยียบเข้าเชียว


เขตพระราชฐานชั้นในจะไม่ให้ผู้ชายเข้าไป เพราะงั้นแม้แต่คนที่ทำหน้าที่ รปภ. ก็ยังใช้ผู้หญิงที่มีชื่อเรียกว่า "โขลน"


ได้โอกาสเข้ามาแล้ว ไปแอบดูสาวชาววังซ้อมรำกันดีกว่า


สมัยโบราณเขาจะนิยมส่งลูกหลานผู้หญิงเข้าไปถวายตัวรับใช้เจ้านายผู้หญิงในวัง เพราะจะได้รับการอบรมสั่งสอนกิริยามารยาทและงานฝีมืออย่างชาววัง

จะว่าไปก็เหมือนได้ส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนประจำ เพราะในยุคนั้นยังไม่มีโรงเรียนกันเป็นเรื่องเป็นราว ยิ่งโรงเรียนสำหรับผู้หญิงแล้วก็เพิ่งจะมามีในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง


ห้องถัดไปน่าสนุกมาก เริ่มด้วยการฉายการละเล่นสารพัดรูปแบบผ่านจอ 360 องศารอบตัว


ห้องนี้ชื่อ เรืองนามมหรสพศิลป์ เป็นเรื่องราวระบำ รำ เต้น ที่กลายมาเป็นมหรสพประจำชาติไทย


หนังใหญ่ มหรสพชั้นสูงที่เป็นการแสดงที่รวมงานศิลปะหลากหลายแขนงไว้ด้วยกัน แล้วยังมีหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว


ว่ากันว่าหนังใหญ่เป็นต้นกำเนิดของมหรสพอีกชนิดที่เรียกว่า โขน

ถ้าใครอยากพาแขกต่างชาติไปชมการแสดงของจริงกัน เขามีจัดแสดงเป็นประจำทุกวันศุกร์และวันเสาร์อยู่ที่ ศาลาเฉลิมกรุง รายละเอียดลองคลิกไปดูที่ www.salachalermkrung.com


หัวโขนไหนเป็นตัวละครอะไรเขามีป้ายบอกเอาไว้ ถ้าดูแล้วจำได้ว่าใครเป็นใครก็จะช่วยให้เราสนุกกับการดูโขนได้มากขึ้น

อย่างถ้าเห็นหัวโขนสีเขียวก็บอกได้เลยว่าคือ พระราม เพราะพระรามจะมีกายสีเขียว ส่วนพระลักษณ์ที่เป็นน้องต่างแม่ของพระรามที่ขอตามมาอยู่ป่าด้วยกันจะมีกายสีเหลือง

ส่วนพญาลิงสีแดง ก็คือ สุครีพ ที่เป็นทหารเอกคนสำคัญของพระราม แกได้สีนี้เป็นสัญลักษณ์ก็เพราะความที่เป็นลูกของพระอาทิตย์

แล้วยักษ์ที่แตกแถวย้ายข้างมาอยู่ฝั่งเดียวกับพระรามแบบนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พิเภก


เคยสงสัยไหมว่ากว่าจะออกมาเล่นโขนกันได้ เขาต้องนุ่งผ้าแต่งตัวกันขนาดไหน


มีหุ่นกระบอกให้ลองเชิดเล่นกันด้วย


ฝีมือการเชิดจะมีถ่ายทอดออกมาอวดฝีมือให้คนชมกันข้าง ๆ



ภาพบรรยากาศเล้กๆน้อยๆที่ถ่ายเองกับมือ